.



วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

แนวทางการวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษา

 

แนวทางการวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษา

มีผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและเทคโนโลยีการศึกษาหลายท่าได้เสนอแนวทางไว้ดังนี้
ลัมสเดน (Lumsdaine. 1963 : 669-671) ได้สรุปงานวิจัยที่ผ่านมาและเสนอแนวทางวินัยไว้ว่า จากงานวิจัยที่จะพัฒนาเทคโนโลยีทางวิธีสอน ซึ่งเกี่ยวข้องในด้านการสื่อเสาะการประดิษฐ์ และค้นพบทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการ นักจิตวิทยาจะเข้ามาเกี่ยวกันในบทบาท ที่สำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประหยัดในการสอน งานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) เป็นสิ่งต้องการมากในการที่จะชี้ชัดและแยกแยะองค์ประกอบพื้นฐานต่าง ๆ ให้ดีก่อน รวมทั้งวิธีการด้วยและต้องพยายามศึกษางานอื่น ๆ ให้กว้างขวางมากที่สุด รวมทั้งต้องเป็นนักการสื่อสารร่วมกับนักวิจัยสาขา อื่น ๆ

อัลเลน (Allen. 1973 : 119) กล่าวถึงแนวทางการวิจัยสื่อในอนาคตว่า
1. ควรลดความพยายามที่จะพิสูจน์ถึงคุณค่าหรือคุณภาพของสื่อแต่ละชนิด แต่ความพยายามค้นหาทางเลือกในช่องทางสื่อ ซึ่งมีมากมายว่าทำอย่างไร จึงจะตรงตามจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
2. ผสมผสานในคุณลักษณะของการสอน กิจกรรมการเรียนรู้และสื่อซึ่งมีความแตกต่างกัน และอย่าพยายามใช้สื่อเดียวโดด ๆ (Single Medium)
3. ให้นำหลักการพื้นฐานต่าง ๆ (Fundamental Principles) มาขัดเกลาและทำให้สมบูรณ์ เพื่อประยุกต์ใช้หรือผลิตสื่อแต่ละชนิดต่อไป
4. การวิจัยเปรียบเทียบผลของสื่อในการสอน ดูเหมือนว่าจะเป็นการวิจัยที่เปล่าประโยชน์

ชาโลมอน (Salomom. 1978 : 45) กล่าวถึงแนวทางการวิจัยสื่อในด้านความแตกต่างที่มีปฏิสัมพันธ์ของคุณภาพสื่อไว้ว่า จากจุดเน้นของการวิจัยสื่อในอนาคตที่มองในด้านความแตกต่างที่มีปฏิสัมพันธ์กับตัวบุคคล สังคม และวัฒนธรรม โดยเริ่มตระหนักในด้านการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพในสิ่งที่แตกต่างกันแต่ละชนิด แต่ละปริมาณทำให้เราเข้าใจดีขึ้นในเรื่องของความซับซ้อน ความยากง่าย ความเด่นของสื่อแต่ละอย่างที่จะสามารถนำมาใช้ให้ประสบผลสำเร็จได้ในแต่ละผู้เรียน แต่ละเนื้อหา บางที่สิ่งสำคัญที่สุดในการวิจัยสื่อที่อาจเกิดขึ้น คือ การนำเอาจุดประสงค์พื้นฐานของระเบียบวิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Research) เข้ามาอธิบายปรากฎการณ์ต่อที่เกิดขึ้น

คลาร์ค (Clark. 1983 : 24) กล่าวว่า การวิจัยในอนาคตจะต้องเน้นในจุดที่จำเป็นของลักษณะวิธีการสอนและตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ การวิเคราะห์งาน (Task) ความถนัดของผู้เรียน (Learner Aptitude) และคุณลักษณะเฉพาะของสื่อและผู้เรียน (Media and Learner Attributions) ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

เกอร์ลัค (Gerlach. 1984 : 24) ได้เสนอคำถามไว้ 3 ข้อ เป็นข้อควรคำนึงเพื่อไปสู่ทิศทางของการวิจัยทางเทคโนโลยีทางการศึกษา ว่าควรจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในคำถามที่ 3

คำถามที่ 1” เรารู้อะไรกันบ้าง” (What do we know?)
1.1 เรารู้เล็กน้อยมาก รู้เพียงแต่ว่าสื่อบางอย่างทำงานได้มีประสิทธิภาพในบางเวลากับนักเรียนบางกลุ่ม ภายใต้สภาวะบางอย่าง
1.2 การเรียนรู้เป็นวิธีการไม่ใช่สื่อ
1.3 สถานภาพของสื่ออย่างดีที่สุดก็คือ ทำให้บรรยากาศในการเรียนแตกต่างกันออกไปและมีเลวที่สุดคือไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้นเลย

คำถามที่ 2 “อะไรที่เราไม่รู้” (What don’t we know?)
2.1 อะไรคือเกณฑ์ที่จำแนกระหว่างความดีความเลวของงานวิจัย
2.2 เมื่อไหร่ที่เราควรจะใช้สื่อไหน
2.3 ผู้เรียนจะจัดระบบและแปลภาษาไทยอย่างไร
2.4 จะแปลผลงานวิจัยออกมาสู่การปฏิบัติได้อย่างไร
2.5 อะไรคือองค์ประกอบของระบบที่จำเป็นในการพัฒนาการสอน
2.6 ผู้เรียนจะสามารถถูกสอนให้ควบคุมตนเองอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่
2.7 คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) จะสามารถทำให้มีประสิทธิภาพได้หรือไม่
2.8 อะไรจะทำให้ระบบการดำเนินการได้ประสิทธิภาพ
2.9 มีกรอบด้านความคิดรวบยอดที่จะจัดโครงสร้างและเหตุผลสำหรับงานวิจัยในสาขานี้หรือไม่
2.10 จะใช้เวลาอีกนานไหมที่จะนึกคิดถึงคุณลักษณะเฉพาะของสื่อ

คำถามที่ 3 “เรากำลังจะไปสู่จุดใด” (Where do we go?)
3.1 จัดรูปแบบตัวแปรต่าง ๆ (เช่น ชนิด ประเภท ขนาด ระยะ เส้น ความยาว ฯลฯ) ในการเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
3.2 จัดลำดับเหตุการณ์ทางการสอนพร้อมผลที่ได้จากการเรียนและการสอน
3.3 วิธีการวิจัยเชิงธรรมชาติ (Naturalistic Research)
3.4 ประเด็นหรือแนวทางที่มีประสิทธิภาพ
3.5 วิธีระบบ (System Approach)

คลาร์คและชาโลมอน (Clark and Salomon. 1936 : 474-475) สรุปถึงการวิจัยสื่อไว้ดังนี้
1. มีการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับวิธีการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากขึ้น และวิจัยผลของการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมที่เป็นเกมคอมพิวเตอร์
2. การวิจัยสื่อที่ผ่านมาไม่ได้แสดงอย่างเด่นชัดว่า สื่อไหนจะให้ผลต่อการเรียนรู้มากกว่ากัน
3. เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลายดูเหมือนว่าจะสอนได้ดีกว่า เพราะมีการเตรียมมาดี และความใหม่มัดจะดึงดูดใจผู้เรียน
4. การวิจัยสื่อในอนาคต ควรจะมีคำอธิบายความหมายประกอบหรือการอ้างอิงของคำถามที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของพุทธิพิสัยบ้าง
5. ในอนาคต ผู้วิจัยจะต้องไม่ศึกษาเพียงเพื่อตอบคำถามของสื่อชนิดเดียวว่าทำอย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แต่ในการเรียนการสอนควรศึกษาว่าทำไม (Why) สื่อจึงจะใช้ได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า สื่อโทรทัศน์และสื่อคอมพิวเตอร์ประเภทไหนจะดีกว่ากันในระบบการศึกษา

อีลาย (Ely. 1987 : 77) กล่าวถึงข้อคิดและแนวโน้มการวิจัยในเรื่องดังต่อไปนี้
1. วิจัยในเรื่องการเรียนรายบุคคลมากขึ้นโดยยึดตามความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. วิจัยเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย มากกว่าโครงสร้างทางการสอนเน้นด้านสภาพ
การเรียนใหม่ๆ สภาพการเรียนที่สร้างสรรค์จากการสอนแบบเดิม ที่ครูยืนสอนคนเดียว มาสู่การใช้สถานการณ์จำลอง วิจัยการใช้สิ่งเร้า ฐานข้อมูล (Databases) และแหล่งประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การศึกษาใหม่ๆ ให้รู้ว่าบุคคลจะเรียนอย่างไรให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด
3. การศึกษาเฉพาะกรณี (Case Study) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทโดยให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback Data) เข้าช่วยในการตัดสินใจต่างๆ
4. วิจัยเกี่ยวกับการวิจัยวัฒนธรรมข้ามชาติ (Cross-cultural Research) มากขึ้น โดยผ่านการตรวจสอบตรวจสอบหลาย ๆ ประเทศ อันจะนำไปสู่ความยึดหยุ่นในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
5. จำเป็นต้องใช้การวิจัยทางการศึกษา (Education Research) เพราะจะเป็นหลักยึดทั่วไป (General Guidelines) ในสาขาเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อมาประยุกต์ใช้ต่อไป
6. การวิจัยเพื่อให้รู้ว่าทำไม (Why) ซึ่งแตกต่างกับช่างเทคนิคที่รู้แต่เพียงว่าจะทำอย่างไร (How) ในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น นักวิชาชีพที่แท้จริงจะต้องรู้ทั้งอย่างไรและทำไม (How and Why)
ไรซ์ (Rice. 1987 : 2529) ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการวิจัยสื่อใหม่ๆ ไว้ว่าควรวิจัยด้านการสื่อสารมากกว่าวิจัยในสื่อใหม่ๆ โดยวิธีในแง่การใช้และผลกระทบในตัวมันเอง ควรวิจัยเพื่อนำเอาการวิจัยสื่อสารมวลชนหรือสื่อมวลชน (Mass Communication or Mass Media Research) เข้ามาใช้ทั้งในวงการศึกษา สังคมวิทยา และจิตวิทยาศาสตร์ของการสื่อสาร (Communication Sciences) จะเข้ามาสู่ทั้งระดับเริ่มต้นและระดับท้ายสุดของเทคโนโลยี

คำถามวิจัย

 

คำถามวิจัย

คำถามวิจัย คือ ข้อความที่เป็นประโยคคำถามซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการค้นคว้าหาคำตอบ ทั้งนี้คำถามการวิจัยควรเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือไม่สามารถหาคำตอบได้จากตำรา หรือความรู้เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว
ปัญหาการวิจัย คือ ปัญหาที่เราต้องการใช้การวิจัยเพื่อแก้ไข
หัวข้อ คือ เรื่องหรือประเด็นที่เราต้องการจะทำวิจัย (มักจะอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือวงวิชาที่เราสนใจ-กำลังศึกษาอยู่)

คำถามวิจัย ภายใต้หัวเรื่องที่เราสนใจใคร่รู้นั้น มีเรื่องอะไรบ้างที่เรายังไม่มีความรู้ และเราต้องการหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ คำถามวิจัยมักจะเขียนในประโยคคำถาม เช่น how who what where แต่ก็อาจจะเขียนในรูปประโยคบอกเล่าได้ ซึ่งมักจะเรียกกันว่าเป็น ประเด็นวิจัย

เมื่อเราได้หัวข้อ และคำถามการวิจัยแล้ว ขั้นตอนไปเป็นการสร้าง concept ในการวิจัยด้วยการสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง และกำหนดขอบเขตเชิงทฤษฎี (theoretical framework) เพื่อช่วยให้เราสร้างกรอบความคิดในการวิิจัย (conceptual framework) และกำหนดขอบเขตของการวิจัย (scope of study) ได้ชัดเจนต่อไป

วิธีการ Snowball Technique : การได้มาซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ

 


วิธีการ Snowball Technique การได้มาซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ

              วิธีการ (Snowball Technique) เป็นวิธีการเลือกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ เพื่อตอบในประเด็นปัญหาการวิจัย โดยผู้วิจัยเลือกผู้เชี่ยวชาญที่ผู้วิจัยเห็นว่า มีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่ผู้วิจัยจะศึกษาจริง ๆ มาก่อน 1 คน แล้วขอร้องให้ผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น ระบุรายชื่อผู้เชี่ยวชาญท่านต่อไป จากนั้นผู้วิจัยร้องขอให้ผู้เชี่ยวชาญท่านใหม่ระบุชื่อผู้เชี่ยวชาญท่านต่อไป จนกระทั่งครบจำนวนตามที่ผู้วิจัยต้องการ
               (ตอบคำถามของการได้มาซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย รวมไปถึงรูปแบบ (Model) ต่าง ๆ ของงานวิจัย)โดยใช้การใช้วิธีนี้ กรรมการสอบ คงไม่ท้วงติงใด ๆ ถ้าอธิบายถึงการได้มาของเครื่องมือ หรือข้อมูลและวิธีการที่ได้มาได้มายังอย่างไร และมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด  

  ตัวอย่าง  เช่น เราต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่อง "จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นอย่างดีมีหนึ่งท่าน เช่น ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน แล้วให้ท่านกรุณา ระบุชื่อผู้เชี่ยวชาญท่านต่อไป จนกระทั่งครบจำนวนตามที่ผู้วิจัยต้องการ ตามข้อตกลงเบื้องต้นในการทำวิจัย

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ตัวอย่างโปรเจคคอมพิวเตอร์

http://projectzeed.blogspot.com/2011/08

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความแตกต่างระหว่างการเป็น “ผู้นำ” กับ “ผู้จัดการ”

สำหรับคนที่อยู่ในระดับบริหารนั้น มีข้อสงสัยกันมานานแล้วว่า การเป็น “ผู้นำ” และ “ผู้จัดการ” แตกต่างกันอย่างไร การเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้จัดการ” ล้วนมีความสำคัญทั้งสองสถานะ หากแต่การเป็นผู้นำไม่เหมือนกับการเป็นผู้จัดการ เพราะคำว่า “ผู้นำ” เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆ ในอันที่จะ ชี้นำแนวทางสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาในสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่การเป็น “ผู้จัดการ” หมายถึงการจัดการเพื่อให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดประสบความสำเร็จ สะท้อนถึงการรับผิดชอบในภารกิจของตน


จากหนังสือ “On Becoming a Leader” ของวอร์เรน เบนนิส ได้อธิบายให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเป็น “ผู้นำ” กับ “ผู้จัดการ” ไว้ดังนี้

ผู้จัดการให้ความสำคัญกับการบริหาร ผู้นำให้ความสำคัญกับการริเริ่มสิ่งใหม่
ผู้จัดการให้ความสำคัญกับการรักษา ผู้นำให้ความสำคัญกับการพัฒนา
ผู้จัดการให้ความสำคัญกับระบบและโครงสร้าง ผู้นำให้ความสำคัญกับบุคลากร
ผู้จัดการให้ความสำคัญการควบคุม ผู้นำให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อถือ
ผู้จัดการยอมรับในความจริง ผู้นำแสวงหาความจริง
ผู้จัดการมักทำตามสิ่งที่ปฏิบัติกันมา ผู้นำมักสร้างแบบให้คนอื่นปฏิบัติ
ผู้จัดการมองการณ์ใกล้ ผู้นำมองการณ์ไกล
ผู้จัดการมักถามว่า “เมื่อไร” และ “อย่างไร” ผู้นำมักถามว่า “อะไร” และ “ทำไม”
ผู้จัดการมองสิ่งต่าง ๆ ตามบรรทัดฐานของมัน ผู้นำมองสิ่งต่าง ๆ ในทุกแง่มุมของมัน
ผู้จัดการทำสิ่งต่าง ๆ ตามสิทธิของเขา ผู้นำทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ผู้จัดการมีหน้าที่จัดการกับปัญหาความยุ่งยากต่าง ๆ ในองค์กร ผู้นำมีหน้าที่จัดการกับความเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าความหมายของผู้นำจะแสดงถึงตัวตนที่เต็มไปด้วยพลังในการคิดริเริ่ม พัฒนาสิ่ง ๆ ต่าง ๆ ก็ตาม แต่การเป็นผู้นำที่ขาดการบริหารที่ดี บางครั้งกลับแย่ยิ่งกว่าการเป็นผู้บริหารที่อ่อนในเรื่องการเป็นผู้นำเสียอีก

ด้วยเหตุนี้การเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้จัดการ” ทั้งคู่ล้วนแต่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จขององค์กร และส่งเสริมกันให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเข็มแข็ง คนที่เป็นผู้จัดการจึงควรมีบุคลิกของผู้นำ และคนที่เป็นผู้นำก็ควรมีการบริหารจัดที่ดีด้วยจึงจะสามารถนำมาองค์กรสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

ADDIE

A : Analysis เป็นกระบวนการของการบ่งชี้ว่าจะต้องเรียนอะไรบ้าง

วิเคราะห์ศึกษาความต้องการจำเป็น
- อะไรคือปัญหา แล้วเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
- จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

วิเคราะห์กิจกรรมหรืองาน
- จะสอนอะไรบ้าง หารายละเอียดของกิจกรรมหรืองานที่เกี่ยวกับการสอน

วิเคราะห์การเรียนการสอน
- เป็นการขั้นตอนของการเรียนการสอนว่าจะแบ่งขั้นตอนของเนื้อหาอย่างไร

Formative VS Summative (Evaluation)

Formative คือการทดสอบระหว่างฝึก
Summative คือการทดสอบหลังฝึกเป็นการสรุปผล
Formative คือการทดสอบบทเรียน หรือสื่อการสอนในระหว่างการดำเนินการพัฒนา เพื่อเป็นการประกันคุณภาพว่าสื่อที่ผลิตนั้นมีประสิทธิภาพสำหรับการเรียนการสอนเพียงพอ

- ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสื่อ
- ให้กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประเมิน
- ทดสอบแบบกลุ่มย่อย แบบสังเกต คุยกันระหว่างตัวต่อตัว (1ต่อ1)
- นำไปใช้งานและการสรุปผล



--------------------------------------------------------------------------------

D : Design เป็นกระบวนการของการบ่งชี้การเรียนการสอนจะเกิดขึ้นอย่างไร

- วัตถุประสงค์การเรียนรู้จะต้องได้วัตถุประสงค์จากการออกแบบ
- เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัตถุประสงค์บรรลุเป้าหมายแล้วดูจากการประเมิน
- ยุทธวิธีการสอนแบบไหน
- สื่อหรือวิธีการใดที่จะให้ประสิทธิภาพในการออกแบบ

--------------------------------------------------------------------------------

D : Development เป็นกระบวนการสร้างสื่อ หรือวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน การพัฒนาการสร้างสื่อเพิ่มกิจกรรมการเรียนการสอนขึ้นมา

เราจะได้สคริปในขั้นการเขียนสคริปต์สตอร์รี่บอร์ด
สคริปเพื่อสร้างผลิตสื่อ
วัสดุอุปกรณ์

- การประเมินมาตรฐาน
- สื่อตัวนี้ได้บรรลุหรือผ่านคุณภาพมาตรฐานหรือเปล่า
- เราจะปรับปรุงอย่างไรถ้ายังไม่ดี

--------------------------------------------------------------------------------

I : Implementation เป็นกระบวนการนำเอาบทเรียนออกมาใช้
- การส่งงานต่อให้ลูกค้าได้ออกมาใช้งานจริง หรือการนำออกมาใช้

--------------------------------------------------------------------------------

E : Evaluation เป็นกระบวนการของการประเมินผล

- เราได้แก้ปัญหาได้ (ในขั้นที่มีปัญหา) วิธีการแก้ไขปัญหา
- ผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องอะไร
- สิ่งไหนบ้างที่จะต้องแก้ไข สำหรับการพัฒนาครั้งต่อไป

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

The 90/90 Standard

        The 90/90 Standard เป็นเกณฑ์ประสิทธิภาพที่เหมาะสำหรับการหาค่าประสิทธิภาพของสื่อประเภทที่เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นรายบุคคล เช่น แบบเรียนโปรแกรม  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ท้ังนี้ เกณฑ์ประสิทธิภาพ The 90/90 Standard มีพื้นฐานมาจาก Mastery Learning ที่มีความเชื่อว่า คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และคนทุกคนมีความสามารถที่เรียนรู้ได้ เพียงแต่ว่า หากคนคนนั้นได้รับเวลาที่เพียงพอในการศึกษาจนกว่าเขาคนนั้นจะบรรลุถึงจุดหมายการเรียนรู้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ นั่นหมายความว่า สื่อประเภท แบบเรียนโปรแกรม บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จึงจำเป็นต้องจัดให้ผู้เรียนใช้เรียนรู้ด้วยตนเอง มิใช่ครูเอาเข้าไปสอนให้เรียนไปพร้อม ๆ กันในชั้นเรียน 

ในบทที่ 14 หัวข้อ การวิเคราะห์ผลการทดสอบ ในตำรา เทคนิคการเขียนบทเรียนโปรแกรม  ของ รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท (2519 : 127) 
    ท่านกล่าวไว้ว่า   สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งของการสอนแบบโปรแกรม ก็คือ บทเรียนโปรแกรมที่เขาสร้างกันขึ้นนั้น เขาสร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายที่เฉพาะเจาะจง ต่อไปเขาก็อยากทราบว่าจุดมุ่งหมายต่าง ๆ เหล่านั้น บทเรียนสามารถทำให้บรรลุไปได้เพียงใดหรือไม่ ก็ต้องมีการทดสอบกัน ในการทดสอบผลของการใช้บทเรียนโปรแกรมนี้ ได้มีผู้นำเอาเทคนิคการวัดผลหลาย อย่างมาใช้ และเทคนิคที่ใช้กันมากที่สุดวิธีหนึ่งก็คือเกณฑ์มาตรฐาน 90/90 (The 90/90 Standard)

       คำกล่าวของ รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท (2519 : 129) กล่าวไว้ว่า เราขอให้ 90 ตัวแรก เป็นคะแนนเฉลี่ยของทั้งกลุ่ม ซึ่งหมายถึงนักเรียน ทุกคน เมื่อสอนครั้งหลังเสร็จ ให้คะแนนเสร็จ นำคะแนนมาหาค่าร้อยละให้หมดทุกคะแนนแล้ว หาค่าร้อยละเฉลี่ยของทั้งกลุ่ม ถ้าบทเรียนโปรแกรมถึงเกณฑ์ ค่าร้อยละเฉลี่ยของกลุ่มจะต้องเป็น 90 หรือ สูงกว่า
       90 ตัวที่สอง แทนคุณสมบัติที่ว่า ร้อยละ 90 ของนักเรียนทั้งหมดได้รับผลสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหมายแต่ละข้อ และทุกข้อของบทเรียนโปรแกรมนั้น สมมุติว่าบทเรียนทั้งหมด วัดทุกจุดมุ่งหมายด้วยข้อสอบจำนวน 10 ข้อ และเราทดสอบนักเรียน 100 คน ด้วยข้อทดสอบนี้ ท่าน รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท บอกว่า เราจะไม่ยอมให้นักเรียนทำข้อไหนผิดเลยได้ 90 คน หรือมากกว่า  ที่ทำผิดบ้างข้อจะต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 หรือ 10 คน  ถ้าเกิดมีการทำผิดในบางข้อขึ้น เกินกว่าร้อยละ 10 จะต้องมีการแก้ไขข้อนั้น ๆ เสียใหม่ แล้วทำการทดสอบบทเรียนอีก เมื่อ 
ท่านบอกว่า  เราแน่ใจว่า ตามลักษณะของผู้เรียนที่กำหนด คะแนนเฉลี่ยของทั้งกลุ่มอย่างน้อยที่สุด เท่ากับร้อยละ 90 และไม่มีคนทำผิดในข้อหนึ่ง  เกินกว่าร้อยละ 10 แล้ว ท่านควรตกลงใจได้แล้วว่า บทเรียนที่เขียนขึ้นได้สำเร็จเรียบร้อยลงแล้วและสามารถนำไปใช้ได้ต่อไป

ความหมายของ 90/90 มีดังนี้ 90 ตัวแรก หมายถึง ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบหลังการเรียนจากสื่อนั้น 
(จะต้องได้อย่างน้อยร้อยละ 90)
90 ตัวหลัง หมายถึง ร้อยละของจำนวนผู้เรียนที่สามารถผ่านเกณฑ์วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมทุกจุดประสงค์
(ตามที่กำหนดในสื่อนั้น)  


เอกสารเสนอแนะเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม 
รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท. เทคนิคการเขียนบทเรียนโปรแกรม หอสมุด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. 

รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร. การวิจัยและทฤษฎีเทคโนโลยีการศึกษา หอสมุดมหาวิทยาลัยบูรพา.

สื่อบุคคล

รศ.ดร.สุทธิพงศ์  หกสุวรรณ 
(ศิษย์เอก รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท). ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.


อ้างอิง
เปรื่อง  กุมุท.  เทคนิคการเขียนบทเรียนโปรแกรม.  ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา :
        คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  2519.

สัมภาษณ์ รศ.ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ. (ศิษย์เอก รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท) เมื่อวันที่  24 ตุลาคม 2552.