.



วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความแตกต่างระหว่างการเป็น “ผู้นำ” กับ “ผู้จัดการ”

สำหรับคนที่อยู่ในระดับบริหารนั้น มีข้อสงสัยกันมานานแล้วว่า การเป็น “ผู้นำ” และ “ผู้จัดการ” แตกต่างกันอย่างไร การเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้จัดการ” ล้วนมีความสำคัญทั้งสองสถานะ หากแต่การเป็นผู้นำไม่เหมือนกับการเป็นผู้จัดการ เพราะคำว่า “ผู้นำ” เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆ ในอันที่จะ ชี้นำแนวทางสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาในสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่การเป็น “ผู้จัดการ” หมายถึงการจัดการเพื่อให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดประสบความสำเร็จ สะท้อนถึงการรับผิดชอบในภารกิจของตน


จากหนังสือ “On Becoming a Leader” ของวอร์เรน เบนนิส ได้อธิบายให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเป็น “ผู้นำ” กับ “ผู้จัดการ” ไว้ดังนี้

ผู้จัดการให้ความสำคัญกับการบริหาร ผู้นำให้ความสำคัญกับการริเริ่มสิ่งใหม่
ผู้จัดการให้ความสำคัญกับการรักษา ผู้นำให้ความสำคัญกับการพัฒนา
ผู้จัดการให้ความสำคัญกับระบบและโครงสร้าง ผู้นำให้ความสำคัญกับบุคลากร
ผู้จัดการให้ความสำคัญการควบคุม ผู้นำให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อถือ
ผู้จัดการยอมรับในความจริง ผู้นำแสวงหาความจริง
ผู้จัดการมักทำตามสิ่งที่ปฏิบัติกันมา ผู้นำมักสร้างแบบให้คนอื่นปฏิบัติ
ผู้จัดการมองการณ์ใกล้ ผู้นำมองการณ์ไกล
ผู้จัดการมักถามว่า “เมื่อไร” และ “อย่างไร” ผู้นำมักถามว่า “อะไร” และ “ทำไม”
ผู้จัดการมองสิ่งต่าง ๆ ตามบรรทัดฐานของมัน ผู้นำมองสิ่งต่าง ๆ ในทุกแง่มุมของมัน
ผู้จัดการทำสิ่งต่าง ๆ ตามสิทธิของเขา ผู้นำทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ผู้จัดการมีหน้าที่จัดการกับปัญหาความยุ่งยากต่าง ๆ ในองค์กร ผู้นำมีหน้าที่จัดการกับความเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าความหมายของผู้นำจะแสดงถึงตัวตนที่เต็มไปด้วยพลังในการคิดริเริ่ม พัฒนาสิ่ง ๆ ต่าง ๆ ก็ตาม แต่การเป็นผู้นำที่ขาดการบริหารที่ดี บางครั้งกลับแย่ยิ่งกว่าการเป็นผู้บริหารที่อ่อนในเรื่องการเป็นผู้นำเสียอีก

ด้วยเหตุนี้การเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้จัดการ” ทั้งคู่ล้วนแต่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จขององค์กร และส่งเสริมกันให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเข็มแข็ง คนที่เป็นผู้จัดการจึงควรมีบุคลิกของผู้นำ และคนที่เป็นผู้นำก็ควรมีการบริหารจัดที่ดีด้วยจึงจะสามารถนำมาองค์กรสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น