กรอบแนวคิดในการทำวิจัย
กรอบแนวคิดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อปัญหาการวิจัย ฉะนั้นการให้แนวความคิดจึงต้องชัดเจน และสามารถพิสูจน์ได้ การมีกรอบแนวคิดจะทำให้นักวิจัยสามารถจัดระเบียบข้อมูลได้ และทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพราะกรอบแนวคิดเป็นการรวบรวมเหตุการณ์ต่างๆ เข้าไว้ภายใต้หัวข้อเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อนักวิจัยกำหนดจุดความสนใจหรือปัญหาที่จะต้องการหาคำตอบได้แล้ว เพื่อให้สามารถจัดระบบความคิดให้กับสิ่งที่ตั้งคำถามและสนใจที่จะศึกษา นักวิจัยจะต้องปฏิบัติในสิ่งต่อไปนี้.....
สมมติว่านักวิจัยตัดสินใจว่าจะศึกษาวิจัย เรื่อง "ปัจจัยทางสังคมบางประการที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนในกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น" สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติก็คือ ต้องไปค้นคว้าจากแนวคิด ทฤษฎี และตำราต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปองค์ความรู้เหล่านั้นให้มีขอบเขตแน่นอน ว่า "ปัจจัยทางสังคม" "การมีส่วนร่วม" และ"กิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น ณ พื้นที่ที่จะเข้าไปศึกษา" นั้น มีคำอธิบายว่าอย่างไร และในการศึกษาวิจัยนี้กำหนดขอบเขตการอธิบายไว้แค่ไหน ขั้นตอนนี้เอง ที่เรียกว่า การกำหนดกรอบแนวคิดสำหรับการศึกษาวิจัย
หรือสมมติว่านักวิจัยตัดสินใจว่าจะศึกษาวิจัย เรื่อง "การศึกษากระบวนการตัดสินใจของพนักงานเทศบาลระดับบริหารเพื่อนำนโยบายทางการเมืองไปปฏิบัติ" สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติก็คือ ต้องไปค้นคว้าจากแนวคิด ทฤษฎี ตำราต่างๆ รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปในองค์ความรู้เหล่านั้นให้มีขอบเขตแน่นอน ให้กับสิ่งที่เรียกว่า "กระบวนการตัดสินใจ" ว่าอะไรบ้างที่อยู่ในกระบวนการตัดสินใจ และการตัดสินใจนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร บุคคลจะต้องอาศัยอะไรบ้างในการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ฯลฯ เพื่อกำหนดขอบเขตการอธิบายให้แน่นอน ขั้นตอนนี้เอง ที่เรียกว่า การกำหนดกรอบแนวคิดสำหรับการศึกษาวิจัย
หรือสมมติว่านักวิจัยตัดสินใจว่าจะศึกษาวิจัย เรื่อง "ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของนักประชาสงเคราะห์ในส่วนภูมิภาค" สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติก็คือ ต้องไปค้นคว้าจากแนวคิด ทฤษฎี ตำราต่างๆ รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปในองค์ความรู้เหล่านั้นให้มีขอบเขตแน่นอน กับสิ่งที่เรียกว่า "ความพึงพอใจ" นั่นคือ นักวิจัยจะต้องค้นคว้าให้กระจ่างว่า พฤติกรรมที่เรียกว่าความพึงพอใจ นั้น มีลักษณะอย่างไร และสิ่งที่เรียกว่า "ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการทั่วไป" ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วไปค้นคว้าเพิ่มเติมว่า "คนที่รับราชการในตำแหน่งนักประชาสงเคราะห์" มีภารกิจอะไรบ้าง ความยากง่ายของงาน ความพร้อมของหน่วยงาน ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งการกำหนดขอบเขตขององค์ความรู้ที่กล่าวมา ก็คือ การกำหนดกรอบแนวคิดสำหรับการศึกษาวิจัย ฯลฯ
http://netra.lpru.ac.th/~phaitoon/RESEARCH/%C7%D4%A8%D1%C2%A1%D2%C3%C8%D6%A1%C9%D2/frame.htm
วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น